หนึ่งในปัญหาที่คนทำร้านอาหารไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็กต่างยอมรับว่า “สำคัญ” และสร้างความเครียดให้ได้บ่อยๆ ก็คือเรื่องของ “พนักงาน” โดยเฉพาะกับร้านอาหารขนาดกลาง (ร้านขนาดเล็กๆ อาจยังไม่ซีเรียสเพราะพนักงานก็คือตัวเอง ส่วนร้านขนาดใหญ่ๆ ก็มีวิธีจัดการปัญหาในแบบองค์กร บริษัท) เรื่องของพนักงานถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของร้าน และมีผลโดยตรงต่อกำไร ขาดทุนได้เช่นกัน พนักงานเป็นตัวแปรสำคัญของรายรับ และรายจ่าย บทความในสัปดาห์นี้ เราจะมาโฟกัสในเรื่องของ “พนักงาน” กัน ทั้งเรื่องของปัญหา สาเหตุปัญหา แนวทางจัดการ และกลยุทธ์อัพเลเวลให้พนักงานกลายเป็นเครื่องจักรดูดเงินจากกระเป๋าลูกค้า
ทำไมคนทำร้านอาหารควรให้ความสำคัญกับพนักงานค่อนข้างมาก อย่างที่บอกเพราะเขาคือฟันเฟืองที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ร้านมี QSC ที่ดีหากเขามีความสุขกับการทำงาน งานที่ออกมาก็จะดีตามไปด้วยแต่หากพูดเรื่องของปัญหาที่เกี่ยวกับพนักงาน เชื่อว่าเพื่อนๆ ทำร้านอาหาร คงประสบกับปัญหาสุดโลกแตกเหมือนกันคือ
- ไม่มีพนักงานทำงาน
- พนักงานมาเริ่มงานได้ไม่เกินสัปดาห์….ออก
- มีพนักงานแต่……รักษาไว้ไม่ได้
ดังนั้นเราจะมา Health Check ในส่วนของบุคลากรกันว่าสาเหตุใดที่ก่อให้เกิด ปัญหาโลกแตกทั้ง 3 ข้อ โดยเริ่มจากข้อแรกกันก่อน
Check 1 : ไม่มีพนักงานทำงานหรือไม่มีคนมาสมัครงาน
สาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหานี้
? ฐานเงินเดือนของร้านคุณต่ำกว่ามาตรฐานของท้องตลาด
? สวัสดิการที่ยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้สมัคร หรือสู้ร้านอื่นๆ ในท้องตลาดไม่ได้
? ชื่อเสียงของร้าน ยังไม่เป็นที่น่าดึงดูดสำหรับผู้สมัคร
? ทำเลที่ตั้งของร้าน เดินทางลำบากต่อการมาทำงาน
? สื่อโปสเตอร์สำหรับรับสมัครงานยังไม่ดึงดูด หรือมีข้อความไม่ชัดเจน
? สื่อรับสมัครงานยังไม่ถึงกลุ่มผู้สมัคร หรือไม่ถูกกลุ่มผู้สมัครที่เราต้องการ
? ชุดยูนิฟอร์มไม่สวย หรือแปลกจนพนักงานไม่กล้าใส่มาทำงานหรือระหว่างทำงาน
แนวทางแก้ปัญหา
? วิเคราะห์ฐานเงินเดือนตนเอง หากพบว่าต่ำกว่าคู่แข่งโดยรอบ ควรที่จะปรับให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันเพื่อสามารถแข่งขันจูงใจพนักงานได้ แต่ต้องนำผลประกอบการ และ Cereer path (ถ้าร้านมี) มาพิจารณาร่วม ก่อนการตัดสินใจเพิ่มฐานเงินเดือน เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียกลับมาหาเราในอนาคต
? สวัสดิการเป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยให้เราได้พนักงานง่ายขึ้น ซึ่งสวัสดิการโดยทั่วๆ ไปที่นิยมใช้กันคือ
➡ เงินทิปกรณีที่ร้านมีกล่องทิป
➡ อาหารพนักงานหรือค่าอาหารพนักงาน
➡ ค่าเดินทางในรอบปิดร้าน กรณีเลิกงานหลัง 22.00 น. เพื่อช่วยพนักงานในกรณีที่ไม่มีรถโดยสารประจำทาง
➡ Incentive (อ่านบทความIncentive เครื่องมือจูงใจพนักงานให้ทุ่มเทเกิน 100%)
➡ พนักงานดีเด่น หากไม่ป่วย สาย ขาด ลา สลับรอบทำงาน ได้รับเพิ่มคนละ ………… บาท/เดือน
➡ ชุดพนักงานฟรี
➡ ที่พักสำหรับพนักงาน (ส่วนนี้ถ้ามี ต้องเรื่องของค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ซึ่งจะเป็นภาระร่วมกัน หรือ เป็นภาระของฝ่ายพนักงาน ดูตามความเหมาะสมของต้นทุนกิจการ)
? สื่อรับสมัครงานต้องอ่านและเข้าใจง่าย สิ่งสำคัญที่ต้องมีในโปสเตอร์หรือใบปลิวรับสมัครงานคือ ชื่อร้านอะไร , ขายอะไร(อาจะเป็นรูปอาหาร) ,รับตำแหน่งอะไร , เงินเดือนเท่าใด , สวัสดิการมีอะไรบ้าง , ทำงานที่ใด , ติดต่อใคร นอกจากอ่านและเข้าใจง่ายแล้วนั้น ยุคนี้ต้องเพิ่มความสวยงามสะดุดตาเข้าไปด้วย ตัวเลขเงินเดือนถ้าให้เยอะกว่าคนอื่น ออกแบบให้เด่นๆ เลยครับ รับรองไม่นานพนักงานโทรมากันตรึม
? สำหรับแอดมินเคยผ่านการรับสมัครพนักงานมาหลายรูปแบบจึงขอแชร์ประสบการณ์ดังต่อไปนี้
➡ อยากได้พนักงานระดับเสิร์ฟ ครัว ล้างจาน ที่วุฒิการศึกษาต่ำกว่า ม.3 เน้นไปแจกใบปลิวหรือติดประกาศตามหอพักที่ค่าเช่าอยู่ระหว่าง 2,000 – 3,500 บาท กับติดป้ายรับสมัครหน้าร้าน
➡ อยากได้พนักงานระดับ แคชเชียร์ หัวหน้าครัว ผู้ช่วยผู้จัดการร้านขึ้นไป ใช้ website รับสมัครงานและติดป้ายรับสมัครหน้าร้าน
➡ หรืออีกวิธีคือจัดกิจกรรม “เพื่อนชวนเพื่อน” โดยให้พนักงานภายในร้านชวนเพื่อนมาทำงานกับร้านเรา หากพนักงานที่ชวนมา ทำงานได้ตามมาตรฐานและผ่านการทดลองงาน พนักงานที่ชวนเพื่อนมาได้รับเงิน ………. บาท/คนที่ผ่านงาน
➡ สำหรับวิธีอื่นๆ เช่น ตั้งโต๊ะรับสมัครตามงานต่างๆ และการคัดลอกรายชื่อตามแรงงานเขตต่างๆ
พรุ่งนี้มาต่อกันใน Check 2 พนักงานมาเริ่มงานได้ไม่เกินสัปดาห์….ออก สาเหตุหลักๆ เพราะอะไร และจะจัดการอย่างไร
หมายเหตุ : ข้อมูลที่นำมาแบ่งปันนี้ เป็นเหตุที่เกิดมาจากประสบการณ์ตรง ดังนั้นในบางรายละเอียดอาจขัดแย้งกับหลักการหรือทฤษฎีตามตำรา แต่ผลลัพธ์ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในร้านอาหารส่วนใหญ่
เรื่องโดย : กระต่ายดำ 124