นำเสนอปัญหาข้อ 1และ 2 ไปแล้ววันนี้มาถึงปัญหาข้อ 3 ของคนทำร้านอาหารมือใหม่มาให้ขบคิดกัน (ที่จริงเป็นปัญหาของ Startup ส่วนใหญ่ด้วย) ปัญหาข้อนี้ก็คือ….เมื่อเราคิดจะทำร้านอาหาร หรือ ทำธุรกิจอะไรก็ตามเรามักจะคิดถึงโปรดักส์เป็นลำดับแรกซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูก แต่ถูกเพียงส่วนเดียวเพราะจะว่าไปแล้ว โปรดักส์เป็นองค์กอบของธุรกิจที่สร้างง่ายที่สุด
เดี๋ยวนี้มีโรงงานผลิตมากมายมีสูตรสำเร็จพร้อมให้เราเลือกจะเอาสูตรไหน งบประมาณเท่าไหร่สามารถผลิตสินค้าให้เราได้ทันใจ ร้านอาหารเองก็มีคนทำซัพพลายเออร์ครัวกลางพร้อมผลิตอาหารให้ตามสั่ง หรือแม้แต่การมีสูตรผลิตคิดค้นเอง มีพ่อครัวฝีมือดี ก็สามารถสร้างโปรกดัสก์คุณภาพได้แล้ว โปรดักส์จึงเป็นสิ่งสร้างได้ไม่ยากในยุคนี้
แต่สิ่งที่ Startup จำนวนไม่น้อยมองข้ามความสำคัญไปคือ ช่องทางจำหน่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างยากกว่าโปรดักส์ เพราะต้องใช้เวลาในการทำให้ลูกค้ารู้ เห็น ไว้ใจ และติดใจ Startup จำนวนไม่น้อยจึงเจอปัญหามีโปรดักส์แต่ขายไม่ได้
คนทำร้านอาหารมักคิดว่าการมีร้านก็คือมีช่องทางจำหน่ายที่เพียงพอแล้วผลคือ หลายๆ ร้าน เงียบไม่มีลูกค้า สุดท้ายเจ๊ง! สำหรับร้านอาหารยุคนี้แค่มีหน้าร้านอย่างเดียวไม่พอ เพราะช่องทางจำหน่ายยุคนี้ยังรวมถึง ทำเลของร้านและการทำหน้าร้านบนโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางจำหน่ายที่มีพลังดึงดูดลูกค้าให้รู้จักร้านเราได้อย่างมาก อย่างเช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวหลอด ครัวแต่จิ๋ว ภูเก็ต ก่อนที่จะมีหน้าร้านวันนี้ก็เริ่มจากทำตลาดผ่านโซเชียล ขายผ่านโซเชียลมาก่อน หรืออย่างร้านเมรูโต๊ะ ซูชิ ร้านอยู่ในซอยที่ไม่น่าจะมีใครพบเห็น แต่ด้วยการใช้ช่องทางเฟซบุ๊กส่งข่าวสารตรงถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทำให้มีลูกค้าจองคิวเต็มทุกวันที่เปิดร้าน
ลองกลับมุมคิด เมื่อนึกจะทำร้านอาหารวาดวงรอบกลุ่มลูกค้าเป้าหมายขึ้นมาแล้ววิเคราะห์ว่า ช่องทางจำหน่ายที่คิดไว้สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ระดับไหนและมีช่องทางจำหน่ายทางอื่นที่เสริมกันได้อีกหรือไม่ ยิ่งมีช่องทางจำหน่ายหลากหลายโอกาสทำให้ลูกค้าวิ่งมาหาเราก็ง่ายขึ้น เมื่อลูกค้ามาแล้ว พบกับโปรดักส์ที่ประทับใจ ทุกอย่างก็เข้าล็อคติดหนึบกันยาวนานครับ
หมายเหตุ : คำว่าช่องทางจำหน่ายในบทความนี้อาจคนละความหมายกับหลักทฤษฎี 4P ครับ