ถามมา ตอบให้
“แนวทางเคลียร์ปัญหาวัตถุดิบในตู้แช่หมดอายุ”
สมาชิกถามมา : “ขอคำปรึกษาเรื่องสต็อกวัตถุดิบครับปัญหาคือ แม่ครัวชอบหมกของไว้ในตู้แช่ จนบางทีก็ลืม ไม่ได้หยิบของออกมาใช้จนหมดอายุ จะมีวิธีไหนจัดการปัญหานี้ได้บ้างครับ
คสช. เพื่อนแท้ฯ ตอบ : เป็นปัญหาที่อาจดูว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ในหน้างานจริงแล้วมีเยอะเลยครับ ที่ตู้เย็น หรือ ตู้แช่ในร้านอาหาร กลายเป็นสุสานวัตถุดิบที่กินต้นทุนเราไปโดยที่ผู้ประกอบการไม่รู้ตัวเพราะคาดไม่ถึง ตู้แช่จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่มองผ่านไปแม้แต่ผักชีเน่าอยู่ก้นตู้แช่กำเดียวในฤดูกาลที่กิโลฯ เป็นร้อยก็คือต้นทุนที่เสียไปโดยไม่มีโอกาสได้กำไรกลับคืนมา
วันนี้คำตอบคงเป็นแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบื้องต้นกันก่อน อ่านสั้นๆ ได้ใจความ และนำไปใช้ได้ทันที
ซึ่งสาเหตุของปัญหานี้เกิดจากไม่ได้สร้างระบบจัดการภายในร้านตั้งแต่แรก ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือ ในทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น หากเกิดเป็นครั้งแรก ให้บอกกับตัวเองว่าพนักงานไม่ผิด เราต่างหากที่ผิดเพราะไม่ได้บอก สอนหรือมีการกำหนดวิธีการทำงานไว้
ซึ่งปัญหาดังกล่าวหากไม่เคยมีการสอนหรือการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเก็บของๆ ร้านต้องทำอย่างไร อันดับแรกที่ต้องทำก็คือกำหนดมาตรฐานวิธีการจัดเก็บวัตถุดิบ และการหยิบใช้วัตถุดิบซึ่งวิธีการหยิบของที่แนะนำนั้นคือ “หยิบจากด้านหน้าไปด้านหลังโดยเริ่มจากทางซ้ายไปทางขวา” ลักษณะดังรูปตัวอย่าง
อันดับสองทำเอกสารเช็ควันหมดอายุของวัตถุดิบ โดยให้เช็คทุกวันช่วงเช้าก่อนเปิดการขาย เพื่อประโยชน์คือได้ทราบว่าวัตถุดิบใดใกล้หมดอายุ จะได้รีบระบายออกให้ทันก่อนหมดอายุและยังทำให้ทราบอีกว่าวัตถุดิบมีเพียงพอต่อการขายหรือไม่ ซึ่งในการเช็ควันหมดอายุของวัตถุดิบนั้น ไม่จำเป็นต้องเช็คทุกรายการ แต่เลือกเช็คเฉพาะวัตถุดิบที่มีอายุสั้น
อันดับสามเจ้าของกิจการหรือผู้จัดการควรหมั่นเข้าไปดูในครัวบ้าง ไม่ใช่ดูแลแต่ส่วนบริการอย่างเดียวการบริหารร้านอาหาร คือบริหารทุกสัดส่วนภายในร้านไม่ใช่ดูแต่เฉพาะส่วนบริการลูกค้า
3 แนวทางแนะนำนี้ นำไปใช้ได้เลยครับ
“อย่าลดขนาดของความฝัน แต่จงเพิ่มขนาดของความพยายาม” credit : #mottoTH