หลังจากที่มีประเด็นดราม่าเกิดขึ้นว่า สูตรเบเกอรี สูตรอาหาร ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ ซึ่งส่งผลให้หลายคนที่ประกอบอาชีพค้าขายอาหาร ขายเบเกอรีเกิดความกังวลและสงสัยว่า การนำสูตรมาทำขายนั้นเป็นเรื่องที่ผิดไหม หรือถ้าต้องการความคุ้มครอง สูตรอาหาร สูตรเบเกอรีของตนเองต้องทำอย่างไร
ความลับทางการค้า (Trade Secret)
ความลับทางการค้า ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาในทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 หมายถึง ข้อมูลที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ยังไม่มีการเปิดเผย และเป็นข้อมูลที่นำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าได้
ซึ่งความลับทางการค้า สามารถได้รับความคุ้มครองได้เลย โดยไม่ต้องไปจดทะเบียน ระยะเวลาความคุ้มครอง คุ้มครองตลอดที่ยังเป็นความลับอยู่ หากมีการเปิดเผย จะถือว่าไม่เป็นความลับทางการค้า
ถึงแม้ไม่ได้จดทะเบียน แต่เจ้าของความลับหรือผู้มีหน้าที่ควบคุมความลับทางการค้าต้องมีมาตรการในการรักษาความลับที่เหมาะสม เช่น หากคุณเปิดร้านอาหาร มีการคิดค้น สูตรอาหาร เองด้วยความยากลำบาก ยังไม่มีใครรู้จัก และยังไม่มีใครทำมาก่อนอย่างแน่นอน คุณสามารถเก็บเป็นความลับโดยการเก็บสูตรนั้นไว้ในที่ที่ปลอดภัย มีการเข้ารหัส หรือถ้าคุณทำเป็นธุรกิจครอบครัวก็อาจจะรู้สูตรแค่เฉพาะคนในครอบครัว
หรืออีกกรณีหนึ่ง คุณต้องการขายน้ำจิ้ม เพื่อส่งออกทั่วประเทศ มีสูตรน้ำจิ้มเป็นของตนเอง และจำเป็นต้องติดต่อกับทางโรงงาน เพื่อสั่งผลิตเป็นจำนวนมาก คุณอาจจะมีการเซ็นสัญญารักษาความลับก่อนการทำสัญญากับทางโรงงานนั้น เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิความลับทางการค้า
อย่างบริษัททรัสต์ คอมพานี แห่งรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐฯ ใช้เป็นที่เก็บสูตรลับของโคคา-โคล่า ซึ่งผู้ที่จะรู้สูตรลับนี้คือ ผู้อำนวยการบริษัทเท่านั้น
แล้วก็จะเกิดคำถามตามมาอีกว่า แต่โคคา-โคล่า มีจำหน่ายทั่วโลก ผู้อำนวยการบริษัทจะรู้สูตรคนเดียวได้อย่างไร ต้องบอกก่อนว่า บริษัทจะจัดส่งให้เพียงหัวเชื้อเท่านั้น จากนั้น ผู้แทนจำหน่ายก็นำไปผสมโซดาจำหน่ายต่อไป
นอกจากนี้ ความลับทางการค้าเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินกับธนาคารได้ และเจ้าของความลับทางการค้า มีสิทธิ์ที่จะนำความลับทางการค้ามาแจ้งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของ และยังสามารถนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจติดต่อขออนุญาติใช้สิทธิ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
หมายเหตุ เจ้าของความลับ คือ ผู้คิดค้น, ค้นพบ, รวบรวม, หรือสร้างสรรค์ข้อมูลทางการค้าที่เป็นความลับ โดยไม่ได้ละเมิดความลับทางการค้าของผู้อื่น
ผู้ควบคุมความลับทางการค้า คือ เจ้าของความลับทางการค้า, ผู้ครอบครอง, ควบคุม, รวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาความลับทางการค้า
ส่วนข้อมูลทางการค้า เป็นสิ่งที่สื่อความหมายให้รู้ เช่น ข้อความ, เรื่องราว, ข้อเท็จจริง, สูตร, รูปแบบ, งานที่ได้รวบรวมประกอบขึ้น, โปรแกรม, วิธีการ, เทคนิค, สูตรยา, สูตรอาหาร, สูตรเบเกอรี, สูตรเครื่องดื่ม, สูตรเครื่องสำอาง
พฤติกรรมที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิความลับทางการค้า
- มีการเปิดเผย โดยที่เจ้าของความลับไม่ได้ยินยอม
- พยายามแสวงหาหรือสืบค้นว่า แหล่งที่มามาจากไหน
- พยายามลอกเลียนแบบ
ยกตัวอย่าง คุณเปิดร้านเบเกอรี มีการคิดค้นสูตรเอง ไม่มีใครทำสูตรนี้ขึ้นมาก่อนเลย แต่ลูกจ้างนำสูตรไปขายให้กับร้านคู่แข่ง กรณีนี้ ลูกจ้างถือว่าละเมิดสิทธิความลับทางการค้า แต่ถ้าเป็นสูตรที่รู้กันโดยทั่วไป ใคร ๆ ก็ทำได้ กรณีนี้ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิความลับทางการค้า
พฤติกรรมที่ไม่ถือว่าละเมิดสิทธิความลับทางการค้า
- ได้รับมาโดยมรดกหรือนิติกรรม ถูกต้องตามสิทธิ์
- ค้นพบด้วยความรู้ ความสามารถของผู้ค้นพบเอง (กรณีค้นพบด้วยตนเอง แล้วบังเอิญเหมือนกับผู้อื่น ก็ต้องไปพิสูจน์กันต่อไป)
- มีหน่วยงานรัฐเข้ามารักษาความลับทางการค้า เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยความปลอดภัยของประชาชน
- การทำวิศวกรรมย้อนหลัง คือ การนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปมาศึกษาวิเคราะห์ จนทราบวิธีการประดิษฐ์ จัดทำ และที่สำคัญต้องมาโดยวิธีที่สุจริต
ยกตัวอย่าง คุณพ่อเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร มีสูตรอาหารที่เป็นความลับทางการค้า จากนั้น ได้บอกสูตรลับแก่ลูก กรณีนี้ ลูกไม่ถือว่าละเมิดสิทธิความลับทางการค้า เพราะได้รับมาโดยมรดกถูกต้องตามสิทธิ์
หากมีการละเมิดสิทธิความลับทางการค้าทำอย่างไร
- ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นระงับหรือละเว้นการละเมิดสิทธิความลับทางการค้าเป็นการชั่วคราว
- ฟ้องคดีต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งห้ามไม่ให้ละเมิดสิทธิในความลับทางการค้า และฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ละเมิดสิทธิในความลับทางการค้า
หมายเหตุ พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน หากมีการเปิดเผยความลับทางการค้าของผู้อื่น ไม่ว่าจะมีเจตนากลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายในการประกอบธุรกิจ, การโฆษณาด้วยเอกสาร, การกระจายเสียง, การแพร่ภาพ, หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ระยะเวลาในการฟ้องคดีละเมิดสิทธิความลับทางการค้า
ระยะเวลาในการฟ้องคดีละเมิดสิทธิความลับทางการค้าไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าถูกละเมิดสิทธิ รู้ถึงการละเมิด หรือรู้ตัวผู้กระทำละเมิด
[irp posts=”14443″ name=”แม้ต้นทุนน้อย ก็สามารถขายอาหารออนไลน์ได้ !”]
สูตรอาหารและสูตรเบเกอรี ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ ?
ก่อนอื่นคุณต้องทราบก่อนว่า ทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร ? ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผลงานที่เกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือการสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยแบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ลิขสิทธิ์ และ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม
1.ลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ คือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ มีการคิดริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ โดยไม่ลอกเลียนแบบงานของผู้อื่น
ประเภทงานที่มีลิขสิทธิ์ (สามารถยื่นแจ้งลิขสิทธิ์ได้)
- งานวรรณกรรม หนังสือ, จุลสาร, สิ่งเขียน, สิ่งพิมพ์, คำปราศรัย, โปรแกรม, คอมพิวเตอร์
- งานนาฏกรรม รำ, เต้น, การทำท่า, การแสดงประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว, การแสดงโดยวิธีใบ้
- งานศิลปกรรม จิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, สถาปัตยกรรม, ภาพถ่าย, ภาพประกอบ, หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติเกี่ยวกับภูมิประเทศ, วิทยาศาสตร์, งานศิลปะประยุกต์, ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย
- งานดนตรีกรรม คำร้อง, ทำนอง, การเรียบเรียงเสียงประสาน, โน้ตเพลงที่แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
- งานสิ่งบันทึกเสียง เทปเพลง, แผ่นคอมแพ็คดิสก์ (ซีดี), ที่บันทึกข้อมูลเสียง, ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น
- งานโสตทัศนวัสดุ วีดีโอเทป, วีซีดี, ดีวีดี, แผ่นเลเซอร์ดิสก์ที่บันทึกข้อมูลประกอบด้วยลำดับของภาพ, หรือภาพและเสียงที่สามารถนำมาเล่นซ้ำได้
- งานภาพยนตร์ ภาพยนตร์, เสียงประกอบของภาพยนตร์
- งานแพร่เสียงแพร่ภาพ การกระจายเสียงวิทยุ, การแพร่เสียง, หรือภาพทางโทรทัศน์
- งานประเภทอื่น ๆ วรรณคดี, วิทยาศาสตร์, และศิลปะ
หมายเหตุ การแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเพียงการแจ้งว่า ตนเองเป็นเจ้าของสิทธิ์ในผลงานลิขสิทธิ์ที่แจ้งไว้เท่านั้น
ประเภทที่ไม่สามารถยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ได้
- ความคิด, ขั้นตอน, กรรมวิธี, ระบบ, วิธีใช้หรือวิธีทำงาน, แนวความคิด, หลักการ, การค้นพบ, ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์, หรือคณิตศาสตร์
- ข่าวประจำวัน, ข้อเท็จจริง
- รัฐธรรมนูญ, กฎหมาย
- ระเบียบ, ข้อบังคับ, ประกาศ, คำสั่ง, คำชี้แจง, และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่น
- คำพิพากษา, คำสั่ง, คำวินิจฉัย, และรายงานทางราชการ
2.ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม
ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม คือ ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม เป็นความคิดที่เกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือมีการปรับปรุงขึ้นมาใหม่ โดยทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ได้แก่
- สิทธิบัตร
- แบบผังภูมิของวงจรรวม
- เครื่องหมายการค้า
- ความลับทางการค้า
- ชื่อทางการค้า
- สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ดังนั้น คำถามที่ว่า สูตรอาหารและสูตรเบเกอรี ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ คำตอบคือ เป็นทรัพย์สินทางปัญญา แต่คุ้มครองในส่วนของความลับทางการค้า นั่นเอง ทั้งนี้ หากกังวลว่า สูตรที่ทำขายอยู่นั้นผิดไหม ต้องพิจารณาด้วยว่า สูตรที่ได้มานั้น เป็นสูตรที่รู้กันโดยทั่วไปหรือไม่ มีสัญญาแจ้งไว้ไหม เก็บเป็นความลับทางการค้าหรือเปล่า
หรืออีกกรณีหนึ่ง คุณจัดทำหนังสือเกี่ยวกับอาหาร มีเจตนาคือ ขายหนังสือ แต่คุณไปก็อปหนังสืออาหารจากเชฟคนหนึ่ง แล้วนำมาดัดแปลงทำหนังสือขายเป็นของตนเอง กรณีนี้ถือว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ในด้านวรรณกรรม หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือโทร 1368