การทำร้านอาหารสักร้านของเพื่อน ๆ มันเกิดมาจากความฝัน ความตั้งใจ และความคาดหวังผลลัพธ์ตามที่หวัง แต่โลกธุรกิจมันก็ไม่เป็นอย่างที่เราคิดเสมอไป โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร แม้จะเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่มีอัตราเติบโตทุกปี และเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นง่ายในความคิดของคนทั่วไป แต่เมื่อได้เข้าสู่ธุรกิจนี้แล้วเกือบ 100% จะพบว่า “ธุรกิจนี้ไม่ง่าย” หลาย ๆ คนใช้ความพยายามทุกวิธีเพื่อเข็นธุรกิจที่รักนี้ไปให้รอด แต่สิ่งที่เราอยากจะบอกจากใจคือ ถ้ามันไม่ไหวอย่าฝืน!
มีสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารบ้านเรายังไม่ค่อยกล้าทำคือ การ “Cut Loss”ยอมถอยก่อนจะหมดตัวส่วนใหญ่จะยอมฝืนทนจดหมดตัวไม่เหลือเงินทุนให้เริ่มต้นใหม่ และที่หนักคือ ยังมีหนี้ติดตัว ซึ่งไม่ดีเลย!!!
หลายคนอาจมีความรู้สึกว่านี่คือร้านที่ลงทุน ลงแรง จึงทำใจไม่ได้หากจะต้องจบมัน ขอฮึดสู้ สู้ สู้ จนเจ็บ สู้น่ะสู้ได้ แต่ต้องสู้แบบรู้ลิมิต สู้อย่างรู้ว่าสถานการณ์ของร้านยังมีโอกาสสู้ได้อยู่ จริง ๆ หรือไม่
แต่ส่วนใหญ่มักสู้ด้วยอารมณ์ ทั้งที่ในความจริงแล้วสู้ไปก็รอดยากเพราะบางร้านไม่ไหวจริงๆ ทำเลไม่ได้ กลุมลูกค้าไม่ใช่ ปัจจัยภ่ยนอกเปลี่ยนไป หรือ แม้แต่บริหารผิดพลาดจนยากจะแก้ไขได้ทัน หรือ เสี่ยงที่จะทนแก้ไข
การทำร้านอาหารคือการทำธุรกิจนักธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้คือคนที่มองเห็นโอกาส วิเคราะห์โอกาสได้ดีถ้าโอกาสไม่รอดมีสูง หรือรอดแต่ก็ไปได้แบบไม่โตก็ควรพิจารณาถอยเพื่อเก็บเงินทุน เก็บพลัง ไว้เริ่มต้นใหม่
สิ่งที่จะบอกเราได้ดีว่า ที่สุดว่า ควรสู้หรือ ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึก แต่ต้องเอาข้อมูลตัวเลขมาวิเคราะห์ P&L ตัวเลขกำไร-ขาดทุน จะบอกเราได้ดีว่าสถานะเงินทุนหมุนเวียนของเราอยู่ในขั้นใด ยังไหวหรือไม
ถ้าใครที่คิดจะสู้ต่อสิ่งที่ต้องพิจารณาคือสถานการณ์ที่เป็นอยู่เกิดจากปัจจัยใดและปัจจัยนั้นจะคงอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ มีวิธีจัดการแก้ไขได้จริงหรือ ที่สำคัญเงินทุนที่เรามีเพียงพอให้สู้ต่อหรือไม่
ถ้าวิเคราะห์แล้วยังมีลุ้นให้สู้ได้ สิ่งที่ต้องทำเป็นพิเศษคือ การบริหารต้นทุน ใส่ใจกับ QSC และลุยการตลาดแบบเป็นระบบ อย่าสู้แบบเดิม ๆ ไปวัน ๆ เด็ดขาด
แต่ถ้าวิเคราะห์แล้วมองไม่เห็นโอกาสทอง“Cut Loss” ก่อนจะสายเจ็บน้อยดีกว่าเจ็บมากซึ่งหลายๆ กรณีการ “Cut Loss”อาจไม่ได้หมายถึงการเจ็บตัวเสมอไปเพราะเมื่อหักค่าเสื่อมของอุปกรณ์ต่างๆเราอาจเหลือกำไรจากการ “Cut Loss” ก็ได้