เป็นคำถามจากเพื่อนสมาชิกที่มีแง่มุมประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ ท่านอื่น ๆ จึงขอนำมาแบ่งปัน เรื่องมีอยู่ว่า เพื่อนสมาชิกท่านนี้ได้รับการโปรโมทจากเจ้าของร้านอาหารให้เลื่อนขึ้นเป็นผู้จัดการร้านมีหน้าที่บริหารงานส่วนบริการหน้าร้านทั้งหมด แต่ปัญหาที่ผู้จัดการใหม่ท่านนี้เจอคือ การไม่ได้รับความร่วมมือจากทีมงาน ถูกมองว่าทำตัวเอาแต่สั่งไม่ทำเอง พนักงานเริ่มไม่ชอบหน้า ไม่เชื่อฟัง จนตอนนี้ตัวผู้จัดการเริ่มเกิดความเครียด ความทุกข์กับตำแหน่งใหม่ อารมณ์ประมาณว่า ฉันก็เป็นพนักงานของฉันอยู่ดี ๆ มาให้ฉันเป็นผู้จัดการทำไม เลยถามมาว่าจะจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร? (รายละเอียดของปัญหาขอไม่ยกมากล่าวถึง)
สำหรับเพื่อน ๆ ท่านใดที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับเพื่อนสมาชิกท่านนี้ ลองมาดูแนวทางรับมือจากประสบการณ์จริง ๆ ของแอดเองที่เคยผ่านการเป็นหัวหน้างานตั้งแต่อายุน้อย ๆ ต้องทำงานรวมกับทีมงานที่มีช่วงอายุต่างกันได้เจอกับปัญหาลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน สิ่งที่แอดนำมาใช้คือ
1 คุยกับตัวเองให้รู้ความสำคัญของตำแหน่งที่ได้รับให้จบก่อน
ต้องบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่พนักงานคนหนึ่งจะถูกโปรโมทให้ขึ้นไปรับตำแหน่งหัวหน้า นั่นแสดงว่าเจ้านายเราต้องมองเห็นความสามารถในตัวเราและไว้ใจเรา ดังนั้นเราต้องเชื่อมั่นในตัวเอง ผู้จัดการในธุรกิจอื่นเป็นอย่างไรแอดไม่รู้ แต่สำหรับผู้จัดการในธุรกิจร้านอาหาร เปรียบเสมือนผู้จัดการทีมฟุตบอลที่มีหน้าที่จัดการทีมให้ทำผลงานออกมาดี ดังนั้น ผู้จัดการทีมคือคนที่จะค่อยมองหาจุดอ่อน จุดแข็ง วางแผนการเล่น มอบแผนให้กับผู้เล่นแต่ละคน ไม่ใช่ลงไปเป็นผู้เล่นตัวหลักเสียเอง และที่สำคัญต้องเป็นผู้รับความผิดชอบในความผิดพลาดใด ๆ ก็ตามของทีม คนเป็นหัวหน้าที่ดีต้องไม่โยนความผิดให้กับลูกน้อง
เมื่อเรารู้บทบาทความสำคัญของตัวเองแล้ว จะทำให้เราคิดหารูปแบบการบริหารที่เหมาะสม มีการกำหนดเป้าหมายต่าง ๆ มีแผนงานที่ชัดเจนตามมา
2 ปัญหาลูกน้องไม่ยอมรับมักเกิดมาจากพฤติกรรมทำงานในอดีตของเราเอง
ปัญหาการไม่เป็นที่ยอมรับจากลูกน้องของผู้จัดการใหม่ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาจากพนักงานหนึ่งในสาเหตุปัญหามาจากพฤติกรรมการทำงานเมื่อตอนที่เป็นพนักงาน เช่น ตอนเป็นพนักงานไม่ทำตามกฎระเบียบ หรือมาตรฐานการทำงาน เมื่อมาเป็นผู้จัดการจะสั่งให้ลูกค้าน้องทำตามระเบียบ ทำตามมาตรฐานการทำงานคงยากที่ใครจะเชื่อ ดังนั้น ลองทบทวนตัวเองดูถ้าการไม่เชื่อฟังคำสั่งมาจากเพราะเราก็ไม่เคยทำตามคำสั่งมาก่อน สิ่งต้องทำคือ ทำตัวเองให้เป็นตัวอย่างที่ถูกต้องเสียใหม่ อธิบายให้เห็นความสำคัญของงานที่สั่งและผลลัพธ์ที่จะตามมาให้ลูกทีมเข้าใจ
3 สำรวจตัวเอง จุดอ่อนปรับ จุดแข็งเพิ่ม
อีกหนึ่งสาเหตุของการไม่เป็นที่ยอมรับต่อทีมงานก็คือ ความรู้ความสามารถของตัวเราเอง ดังนั้นสำรวจจุดอ่อน จุดแข็งของตัวเอง อะไรที่เรายังอ่อนในเรื่องการบริหารหาความรู้เพิ่มเติม อะไรที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้วพัฒนาให้ดีขึ้น ไม่มีใครเก่งไปทุกอย่าง แต่ก็เรียนรู้กันได้ เช่น บางคนเก่งการจัดการคน แต่ไม่เก่งเรื่องเอกสาร เรื่องตัวเลข ก็หาความรู้เพิ่มเติมได้ อย่าหยุดอยู่กับความรู้เดิม ๆ มันหมดอายุกันได้
4 ลุยให้ได้ใจทีมงาน ใส่ใจลูกน้องเรื่องอื่นๆ ด้วย
อยากได้ใจคนอื่น ก็ต้องทำให้คนอื่นได้ใจเราด้วย ในจังหวะที่หัวหน้าต้องลุยช่วยทีมก็ต้องลุยให้เต็มที่ เช่น งานล้น คนขาด จะเอาแต่ยืนสั่งมีหวังโดนลูกน้องเขม่นแน่ และอย่าลืมว่า ชีวิตไม่ได้มีแต่เรื่องงาน ควรถามไถ่สารทุกข์สุขลูกทีมด้วย เป็นให้ได้ทั้งหัวหน้า ที่ปรึกษา และลูกพี่ เลิกงานพากันไปกินข้าว ทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง อย่าให้เกิดช่องว่างระหว่างกันมากเกินไป แต่ก็ต้องรักษาระดับการบังคับบัญชาไว้ให้พอดี เวลางานก็ต้องเป็นงาน เวลาพักก็เป็นเพื่อน พี่ น้องกัน
5 ขอความช่วยเหลือจากเจ้าของร้าน
บางอย่างก็จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าของร้าน เช่น แจ้งเหตุผลให้พนักงานทราบถึงการตั้งเราเป็นผู้จัดการเพราะอะไร หรือ ให้เจ้าของร้านช่วยเช็คฟีดแบคพนักงานที่มีต่อเรา เพื่อที่เราจะได้รู้และปรับปรุง ถ้าเมื่อไหร่ที่คิดว่า สถานการณ์เกินการควบคุม อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากเจ้าของร้าน