ปัญหาเรื่องแรงงานเป็นหนึ่งในปัญหา Top5 ที่มีเพื่อน ๆ ผู้ประกอบการร้านอาหารสอบถามเข้ามาต่อเนื่อง และพบว่า เพื่อน ๆ ผู้ประกอบการร้านอาหารSME ส่วนใหญ่ ยังอ่อนด้านกฎหมายแรงงานส่งผลให้เกิดการกระทำบางอย่างที่ผิดกฎหมายแรงงานและสุ่มเสี่ยงต่อการต้องรับโทษ ต้องชดเชย หากเกิดกรณีพิพาทระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง หรือ หากมีการสุ่มตรวจจากแรงงานในเขตพื้นที่ ซึ่งต้องบอกเลยว่า หากมีกรณีพิพาทเรื่องแรงงานโอกาสที่นายจ้างSMEส่วนใหญ่จะตกเป็นฝ่ายผิดมีสูงเพราะยังขาดความรู้ด้านกฎหมายแรงงานนั่นเอง ซึ่งหนึ่งในกฎระเบียบสำคัญที่กฎหมายแรงงานกำหนดให้นายจ้างต้องทำ แต่เชื่อว่า มีเพื่อน ๆ ผู้ประกอบการSME จำนวนไม่น้อยไม่ได้ทำก็คือ “ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน”
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานคืออะไร ต้องทำเมื่อไหร่
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 108 กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป จัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานเป็นภาษาไทย โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายในการให้จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานทำขึ้นก็เพื่อกำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่พึงปฏิบัติต่อกัน ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการทำงานและเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดขัดแย้งซึ่งกันละกัน
ส่วนในทางปฎิบัติจริง ๆ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ก็เสมือนข้อตกลง หรือ ข้อผูกมัดเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันในทุก ๆ ประเด็นการทำงาน สิทธิหน้าที่ต่าง ๆ ของนายจ้างและลูกจ้างจะปฏิบัติต่อกันตามกรอบกฎหมาย นั่นเอง
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต้องมีอะไรบ้าง
สำหรับหัวข้อที่กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องมีอยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะมีอยู่ 8 หัวข้อหลัก ๆ ใครจะทำมากกว่า 8 หัวข้อนี้ก็ได้ แต่จะทำน้อยกว่าไม่ได้
1) วันทํางาน เวลาทํางานปกติ และเวลาพัก
2) วันหยุดและหลักเกณฑ์การหยุด
3) หลักเกณฑ์การทํางานล่วงเวลาและการทํางานในวันหยุด
4) วันและสถานที่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทํางานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
5) วันลาและหลักเกณฑ์การลา
6) วินัยและโทษทางวินัย
7) การร้องทุกข์
8) การเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ
โดยจะต้องมีรายละเอียดให้ครบทั้ง 8 หัวข้อ และเพื่อน ๆ ในฐานะนายจ้างจะต้องประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานภายใน15วันนับแต่วันที่มีลูกจ้างรวมกันสิบคนขึ้นไป และต้องส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ส่วนตัวนายจ้างก็ต้องจัดเก็บสำเนาข้อบังคับนั้นไว้ ณ สถานประกอบกิจการ หรือสำนักงานของนายจ้างตลอดเวลาด้วย รวมถึงต้องเผยแพร่และปิดประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนี้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบและดูได้โดยสะดวก และหากมีการแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กฎหมายกำหนดให้นายจ้างประกาศข้อบังคับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นภายใน7 วันนับแต่วันที่ประกาศใช้ข้อบังคับที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
ข้อความระวังในการเขียนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
สำหรับข้อที่นายจ้างควรระวังในการเขียนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ผู้เชียวชาญด้านกฎหมายแรงงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างอาจารย์เต้ย (พรีพฒัน์ กองทอง) ได้ให้คำแนะนำว่า เขียนให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายแรงงานกำหนดไว้ และให้ระวังหากจะเขียนอะไรที่เกิดกว่ากฎหมายกำหนด เช่น การจ่ายโบนัส เพราะหากเขียนอะไรลงไปในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว จะมีผลผูกมัดนายจ้างด้วย ยกตัวอย่าง เขียนไว้ว่า จะมีการให้โบนัสอย่างน้อย 1 เดือนต่อปี ถึงเวลาปีนั้นขาดทุนไม่สามารถจ่ายโบนัสได้ พนักงานสามารถฟ้องร้องให้นายจ้างได้ ดังนั้นให้การจะเขียนอะไรลงไปต้องมั่นใจว่าจะปฏิบัติตามที่เขียนได้ หรือ หากเขียนไปแล้วทำไม่ได้ตามนั้นจริง ก็ต้องรีบแก้ไขและประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่แก้ไขไปใหม่ตามกฎหมายกำหนดไว้
ถึงตรงนี้ หากร้านเพื่อน ๆ ท่านใดมีพนักงานเกิน 10 คนและยังไม่ได้มีการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน รีบดำเนินการทันที เพราะเราไม่รู้หรอกว่า เจ้าหน้าที่แรงงานในพื้นที่จะมาเยี่ยมเยียนเราเมื่อไหร่
ดาวน์โหลดตัวอย่างการเขียนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
❗️และไม่ว่าเพื่อน ๆ จะเปิดร้านอาหารประเภทไหนหากมีการจ้างงานเกิดขึ้นเพื่อน ๆ จำเป็นต้องมีวิชาในการบริหารพนักงานให้ทำตามระบบที่วางไว้เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้า เพื่อให้ร้านเกิดกำไรอยู่ได้
❗และที่สำคัญ เมื่อมีการจ้างงานเกิดขึ้นสิ่งที่เพื่อน ๆ ต้องรู้อย่างยิ่งก็คือ “กฎหมายแรงงาน” ผู้ประกอบการร้านอาหารSME จำนวนไม่น้อยกำลังกระทำผิดกฎหมายแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกปรับ ถูกจับ โดยไม่รู้ตัว เพื่อน ๆ ก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น