“เรือนจรุง” ร้านอาหารเมืองไทยดังสุดในตอนนี้ เปิดมาไม่ถึง 2 ปีแต่คิวยาวเหยียดเต็มไปถึงปี 63 ความเป็นมาของเรือนจรุงใครอยากรู้ไปหาติดตามกันเอาตามกูเกิ้ลเพราะมีคนนำมาบอกเล่าไว้ทั้งข้อความและคลิป ส่วนความอร่อย ความน่าสนใจเราก็จะไม่พูดถึงเช่นกัน เพราะลิ้นแต่ละคนไม่เหมือนกัน ประเด็นที่ขอนำมากล่าวถึงคือ แง่มุมการตลาดที่ทำให้ “เรือนจรุง” มีคิวจองยาวข้ามปี ลูกค้าแต่ละคน แต่ละกรุ๊ปเฝ้ารอค่อยวันถึงคิว เขาทำการตลาดอย่างไรถึงได้ปังทะลุประเทศ เราได้คำให้การจากปาก “ลุงเหมียว” เจ้าของเรือนจรุงคนดัง สรุปมาให้เพื่อน ๆ ได้เรียนรู้เป็นแนวทาง ไปดูกัน
1 เป็นตัวของตัวเองแบบพอดี
ลุงเหมียวบอกว่า ยุคนี้โซเชียลสำคัญเมื่อเราหนีมันไม่ได้ก็จงเรียนรู้ที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์ เรือนจรุง เกิดเพราะโซเชียล แต่การจะแสดงตัวตนออกไปบนโลกโซเชียลจงเสนอแต่เรื่องจริง และเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดบนความพอดี
“เราพยายามจะเสนอเรื่องที่จริงที่สุด ที่เป็นตัวเรา กูเป็นคนแบบนี้ ก็ใส่ไปในเพจ คือการบอกตัวตนที่ชัดเจนที่สุด คุณก็จะได้คนที่เหมือนกันที่สุดเข้ามา ใครที่ไม่ชอบสไตล์แบบเราเขาก็จะไม่มายุ่ง ไม่มาติดตาม เป็นการคัดกรองลูกค้าในตัว ผมไม่ต้องการให้คนมาติดตามเป็นล้าน เพราะสุดท้ายตอนนี้ผมก็รับได้แค่ 300 โต๊ะ มีแค่ 300 คนเป็นแฟนกู ที่นี่ก็เต็มทั้งปีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจำนวนไม่มีผลกับผม ผมไม่ค่อยออกสื่อ ไม่รู้จะออกไปทำไมเพราะดังกว่านี้ก็รับได้เท่านี้ เผลอๆ ถ้าเอาเรื่องเราไปออกไม่ครบ คนฟังแล้วwalk inเข้ามาเขาก็เสียเวลาเพราะไม่ได้รับwalk in เราก็จะโดนด่าเอาอีก แต่ต้องบอกว่านี่คือร้านแบบผมนะถ้าเป็นร้านแบบอื่นก็ต้องหาสไตล์สื่อสารที่เหมาะกับตัวเอง เป็นตัวเองให้จริงที่สุด เพราะในโลกโซเชียลมันปลอมกันเยอะ มีหลายคนพอเห็นคนนั้นทำดี คนนี้ทำแล้วรุ่ง ก็อยากเป็นแบบเขาจะพยายามเลียนแบบตามเขา มันกลายเป็นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนเราเอง ก็ไม่เกิด”
2 Content สำคัญ แต่ Admin สำคัญยิ่งกว่า
เวลานึกถึงการตลาดออนไลน์ ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญไปที่ Content ลงทุน ลงแรงกับการทำ Content แต่สิ่งที่มักจะลืมให้ความสำคัญคือ Admin ซึ่งลุงเหมียวบอกว่า ตำแหน่งนี้สำคัญโคตร ๆ ถ้าคิดจะทำการตลาดออนไลน์ให้สำเร็จต้องห้ามลืม Admin
“คนทำเพจส่วนใหญ่ก็จะคิดถึงแต่ Content แต่ไม่นึกถึงแอดมิน จริง ๆ แล้ว Admin สำคัญมาก เพราะ Admin มันคือPRองค์กร เขาถามอะไรมาจะต้องตอบได้ทุกเรื่องเกี่ยวกับร้าน ต่อให้เพจไม่โพสต์อะไรเลยนะ แต่ใครถามไรมา Admin ตอบได้ ตอบเร็ว มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ามันจะทำให้เกิดการสื่อสาร 2 ทาง ลูกค้าชอบเพราะคนเราชอบคุย ยิ่งคุยแล้วเขาจำได้ จำว่าชอบกินอะไร เขาก็ยิ่งประทับใจ ยิ่งกลายเป็นแฟนคลับเราเหนียวแน่น ต่อให้เขายังไม่เคยมาร้านเราวันหนึ่งเขาก็ต้องมาให้ได้อย่างน้อยน่ะถ้าเขารู้เรื่องเราเขาก็ไปพูดต่อ เราโพสต์อะไรใหม่เขาแชร์ คือมันมีคนช่วยเราพูด ไม่ใช่เข้ามาในเพจก็เห็นแต่เมนูอาหาร มีแต่โปรโมชั่น ถามอะไรกว่าจะมีคนมาตอบรอเป็นวัน เพจผมเขียนเอง ตอบเอง เป็น Admin เพราะไม่มีใครรู้เรื่องผมดีเท่าตัวผมเอง ผมอ่านทุกคน ตอบทุกคน ตามไปอ่านทุกแชร์ ทุกแท๊ก ไปคุยกับเขา ๆ ก็รู้สึกดีรู้สึกใกล้ชิดกัน แต่ว่ามันก็จะต้องเหนื่อยที่จะต้องพูด คุย ตอบเรื่องเดิม ๆ ก็แค่นั่นเอง อย่างผมพูดซ้ำ ๆ มา 2 ปี แต่มันก็เป็นเรื่องของผมงัย พูดแล้วมีคนฟังผมก็แฮปปี้ อย่างเวลาลูกค้ามาที่ร้านถ้ามีคนถามผมก็คุยให้ฟัง ก็คุยเรื่องเดิม ๆ แต่พอหลังจากผมพูดเสร็จ ทุกคนกลับไป ก็จะมีคนเอาเรื่องราวที่ผมเล่าไปเขียนต่อในมุมของเขาก็จะเกิด Content ของร้านผมหลากหลายเลย มันก็เป็นส่วนหนึ่งของงาน Admin เรียกว่าเป็นแผนกลูกค้าสัมพันธ์นั่นแหละ ต้องมี”
3 รูปอย่างไร ของจริงต้องดียิ่งกว่า
อีกหนึ่งความใส่ใจที่ลุงเหมียวให้ความสำคัญอย่างมากของการนำเสนอรูปภาพ หรือ คลิปบนเพจจะต้องเป็นของจริง ไม่ใช่การทำขึ้นมาเพื่อถ่ายรูปแต่ถึงเวลาลูกค้ามาเมนูจริงที่เสิร์ฟไม่เหมือนกันรูปที่เห็น ที่เรือนจรุงไม่มีเด็ดขาด!
“ไอประเภททำรูปสวย ๆ แล้วเขียนว่ารูปถ่ายเพื่อการโฆษณา ผมไม่ทำเด็ดขาด ที่นี่อาหารทุกจานที่จัดมาถ่ายรูปแบบไหน ของจริงก็เสิร์ฟมาแบบนั้น แต่ลูกค้ามาเห็นที่นี่ทุกคนจะบอกว่าของจริงใหญ่ เยอะกว่ารูปที่เห็น เขาก็ยิ่งประทับใจ เวลาจะถ่ายรูปอาหารไว้ทำ Content ผมจะห้ามช่างภาพมาทำอะไรกับเมนูผม จะมาเพิ่ม มาจัดไม่ต้อง ผมยกมาวางยังไงถ่ายยังงั้น ขยับหามุมแสงได้ แต่จะให้เติมควันหรือทำอะไรที่ของจริงไม่ได้ทำห้ามเลย การที่ลูกค้ามาแล้วเขาเห็นของจริงมันยิ่งกว่ารูปถ่ายเป็นจุดหนึ่งของร้านที่ทำให้ถูกพูดถึง และเวลาเรายกอาหารมาเสิร์ฟก็ต้องนึกถึงตอนลูกค้าถ่ายรูปด้วย ต้องให้เขาถ่ายรูปออกมาแล้วดูดี เพราะรูปที่ลูกค้าถ่ายมันจะกลายเป็น Content เป็นโฆษณาให้ร้านเราตามมา”
4 ใส่ชีวิตให้ Content
ถ้าใครเข้าไปส่องเพจ “เรือนจรุง Ayutthaya real chillin house” จะรู้สึกได้ถึงความมีชีวิตชีวาของแต่ละ Content ซึ่งต่างจากเพจร้านอาหารส่วนมากที่เปิดเจอทีไรมีแต่เมนู เมนู และ โปรโมชั่น จนหยุดนิ้วโป้งไม่อยู่ ที่ Content ของเรือนจรุงให้ความรู้สึกชวนน่าติดตามเพราะลุงเหมียวปรุงรสชาติความมีชีวิตให้กับ Content
“เวลาเราทำเพจให้นึกภาพว่า เพจคือร่ม ร่มก็คือร้านเราใต้ร้านเราลงมามันมีอะไรบ้าง ไม่ใช่มีแต่เมนูอาหารนะ มันมีเรื่องให้ได้หยิบมาคุยเยอะแยะเลย แม้แต่เราไปร้านคนเราก็หยิบมุมดี ๆ เอามาคุยถึงในเพจเราได้ มันก็คนในสังคมเดียวกันเป็นการสร้างมิตรด้วย เราไปเจอวัตถุดิบดี ๆ ที่ไหน เจอแม่ค้าน่าสนใจ เจอลูกค้าน่ารัก เยอะแยะเอามาทำ Content ลงเพจได้หมดเพจมันจะมีชีวิตกว่าแค่มาบอกข้อมูลเมนู โปรโมชั่น คนมันเบื่อติดตามไม่กี่ครั้งก็เลิก คือเราต้องทำให้เพจร้านเรามีคาแรคเตอร์ มีชีวิต ถ้าคุณไม่ทำให้เพจมันมีชีวิตมันก็จะแห้ง ๆ แบน ๆ คือไหน ๆ เราก็เล่นโซเชียลอยู่แล้วก็เอาความเป็นตัวเราใส่เข้าไป เพราะทุกคนทำร้านอาหารก็มาจากอยากทำร้านในแบบที่เราอยากทำกันทั้งนั้นแหละ มันก็คือตัวตนเราเอง อย่างผมพูดแล้วมีคนฟัง ผมก็เป็นตัวของผมเองได้ แต่ก็ต้องมีความพอดีอะไรที่มันแรงไปเช่น คำพูดหยาบ ๆ เราก็ไม่เอามาใช้ เราก็ค่อย ๆ หยอดไป ดูฟีดแบคถ้าคนตอบรับเราก็เล่นได้ ถ้าเขานิ่ง ๆ แสดงว่าไม่ใช่เราก็เปลี่ยน”
5 การตลาดที่ดีที่สุด คือ เรื่องราวที่ลูกค้าพูดถึงเรา
และถ้าเข้าไปส่องเพจ “เรือนจรุง Ayutthaya real chillin house” ก็จะได้เห็นคอมเม้นากมายใต้โพสต์ เห็นการแชร์โพสต์ที่ลูกค้าเขียนบอกเล่าประสบการณ์เมื่อได้มาเยือนที่เรือนจรุง นี่เป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญของความน่าเชื่อถือในโลกการตลาดออนไลน์ปัจจุบัน
“ทุกวันนี้ดารารีวิวสินค้าไม่มีใครเชื่ออีกแล้ว เพราะว่ามันเป็นการแสดงใครก็รู้แล้วว่าที่มึงรีวิวมึงไม่ได้ใช้เองหลอก อินฟลูเอนเซอร์เองก็เริ่มไม่ไหวแล้วคนเริ่มรู้สึกว่าไปรับเงินเขามาให้พูดเชียร์ ยุคนี้คนชอบของจริงมาพูด มาบอกกันตรง ๆ เป็นตัวของตัวเอง คนเชื่อลูกค้าที่มารีวิว คนที่ทำการตลาดให้กับผมได้ดีสุด ก็คือ คนที่มากิน คือลูกค้าเรา ผมเชื่อว่าวันนี้ถ้าใครเอาเรื่องเรือนจรุงไปเขียนโพสต์นั้นจะมีคนเข้าถึงมากเป็นพิเศษเพราะมันเป็นเรื่องที่คนกำลังสนใจอยู่ และถ้ามีใครมาเขียนถึงเรือนจรุงในแง่ไม่ดี ก็จะมีคนมาช่วยแก้ให้เราเต็มไปหมด นั่นเพราะว่าเขามาแล้วเขารู้สึกดีกลับไป”
“อย่าลืมว่าเราทำร้านอาหารเพราะอะไร พอเราเป็นเจ้าของร้านเรามักจะลืมคิดในมุมคนกิน ลืมความตั้งใจแรกที่เราอยากทำร้านไป มันทำให้ลูกค้าเข้าไม่ถึงเรา ลองกลับกันเราไปเป็นคนกิน ไปเจอเจ้าของร้านพูดคุยด้วยเราก็รู้สึกดี แต่เดี๋ยวนี้ผมว่าเจ้าของร้านส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้คุยกับลูกค้า ยิ่งพอลูกค้าเยอะ ขายดี ขยายสาขา ตัวเองก็ต้องไปยุ่งอยู่กับงานส่วนอื่นไม่ได้มาดูแลลูกค้าจริง ลืมจุดเริ่มต้นที่เราทำร้านอาหารไป ถ้าเราไปร้านไหนแล้วเจอเจ้าของคอยดูแลถาม เป็นงัยบ้างครับ อร่อยมั้ยครับ เราก็รู้สึกดีมันก็เหมือนกันกับลูกค้าที่มาร้านเรา แต่ก็อย่างว่าละนะผมดูแลลูกค้าได้ง่ายเพราะมีแค่โต๊ะเดียว ลูกค้ามาตกใจถามโอ้โหลุงเสิร์ฟเองเลยเหรอ ก็เสิร์ฟเองดิวะจะให้ใครมาเสิร์ฟก็กูไม่มีลูกจ้าง”
6 แบรนด์ที่ชัดเจนจะเป็นมากกว่าโปรดักส์
แม้ปัจจุบันเรือนจรุงจะมีเพียงร้านอาหารรองรับคนได้เพียงกรุ๊ปเดียวต่อรอบ เปิดรอบตามคิวจองเฉพาะแค่เสาร์ อาทิตย์ และหยุดนักขัตฤกษ์ 3 รอบต่อวัน แต่ลุงเหมียวมองข้ามร้านอาหารไปแล้ว เพราะวันนี้เรือนจรุงกลายเป็นแบรนด์ที่รู้จักไปทั่วโลกแล้ว
“สำหรับร้านอาหารผมไม่มีแผนขยาย ผมชอบแบบนี้ ผมไม่ต้องการให้งานที่ทำกลายเป็นรูทีน เพราะงานรูทีนมันคืองานที่ต้องทำให้ทันไม่ใช่ทำให้ดี มันกดดัน ทุกวันนี้ผมมีเวลาจัดการงานต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมสมบูรณ์ดีสุดในวันที่ลูกค้ามา อะไรเสีย อะไรพัง จันทร์ ถึง ศุกร์แก้ไข ซ่อมกันไป ผมโอเคแบบนี้ ลูกค้าก็โอเคเพราะเขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งถ้าจะให้ผมทำร้านอาหารแบบเปิดทุกวันผมก็อาจทำได้ไม่ดี ไม่สำเร็จ เพราะงั้นร้านอาหารก็ให้มันไปแบบนี้ แต่ผมมองว่าเรือนจรุงไม่ใช่แค่ร้านอาหารแล้ว มันคือแบรนด์ที่เอาไปสวมกับสินค้าอะไรก็ได้ วันหนึ่งอาจมีอาหารสำเร็จรูปเรือนจรุง ขนมหวานเรือนจรุง โฮมสเตเรอนจรุง รีสอร์ทเรือนจรุง ก็ทำได้ นี่คือข้อดีของการทำให้แบรนด์มีชีวิต”
7 กติกาที่แตกต่างตัวเร่งปฏิกิริยาทางการตลาดอย่างดี
อาจมีบางคนรู้สึกสงสัย หรือ หลายคนอาจหงุดหงิด อาจเสียดาย ว่าทำไมการจะมากินข้าวที่เรือนจรุงมันถึงยากเย็นนัก คิวยาวข้ามปี แถมกว่าจะได้คิวก็ใช่ว่าจองก่อนได้ก่อน ต้องทำตามกติกาและการพิจารณาของลุงเหมียวคือที่สุด แต่กติกาที่แตกต่างกลับยิ่งทำให้เกิดความอยาก ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ
“กติกาผมสร้างขึ้นมาเพื่อคัดลูกค้า เพราะถ้าเราเลือกลูกค้าได้จะดีที่สุด แต่ว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ยังงัยร้านอื่น ๆ ก็ต้องไปหาวิธีกันเอาเอง อย่างของผมใช้แบบที่ผมทำก็เป็นการคัดกรองลูกค้าตามที่เราต้องการ ให้เขาเขียนจดหมายมาบอกเล่าเรื่อราวของเขา เราได้รู้จักเขา คนนี้ใช่ คนนี้ไม่ใช่ก็คัดไป แต่นี่คือร้านแบบของผม ร้านที่ไม่มีความเดือดร้อนจ่อตูด ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมาก แต่ถ้าเป็นร้านแบบทั่วไป ก็ต้องวางระบบขึ้นมาช่วยจัดการก็ว่ากันไป ผมเลือกทำในสิ่งที่ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องกดดันตัวเองเพราะเรามีความพร้อมแบบนี้ ก็เลือกทำแบบนี้มันทำให้เรามีเวลาในการคิด วางแผน พัฒนามัน แต่ถามว่าวางแผนไว้มั้ยว่ากติกาแบบนี้มันจะยิ่งทำให้เกิดกระแส บอกเลยว่าไม่ได้คิด เราแค่คิดว่าทำแบบนี้มันเหมาะกับเราก็แค่นั้นเอง”
เป็น 7 ข้อคิดที่ได้มาจากคำบอกเล่าวิธีทำการตลาดผ่านโลกออนไลน์ของลุงเหมียวจนทำให้เรือนจรุงกลายเป็นร้านอาหารไทยดังไปทั่วโลกคิวจองยาวเต็มข้ามปีใครจองตอนนี้มีโอกาสได้กินปี64 กันเลยทีเดียว แต่ ๆๆๆ อย่างที่ลุงเหมียวบอกไว้ว่าหลายคนพอเห็นคนนั้นทำดี คนนี้ทำแล้วรุ่ง ก็อยากเป็นแบบเขาจะพยายามเลียนแบบตามเขา มันกลายเป็นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนเราเอง ก็ไม่เกิด เช่นกัน หลายคนมาเยือนเรือนจรุงแล้วหลงใหลใฝ่ฝันอยากทำแบบลุงเหมียวบ้าง โปรดอ่านประโยคนี้อีกรอบ “แต่นี่คือร้านแบบของผม ร้านที่ไม่มีความเดือดร้อนจ่อตูด ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมาก” และขอปิดท้ายด้วยคำพูดของลุงเหมียวประโยคนี้
“ถามว่าอยากรวยมั้ย อยาก แต่ถ้าต้องขยายร้านเพิ่มรอบมันก็จะกลายเป็นรูทีนอย่างที่บอกผมไม่ชอบ และมันก็จะไม่ใช่เรือนจรุงแล้ว ทำแบบที่ทำอยู่นี้มันโอเคแล้ว นาน ๆ ผมก็เข้าไปในเมือง ไปกรุงเทพฯ เยี่ยมเพื่อนฝูงบ้าง ไปกินอาหารร้านที่เขาเคยมาร้านเราบ้าง ไปเพื่อได้คุย ได้เก็บวัตถุดิบมาเขียน Content ร้านไหนดีเราก็เขียนถึง ร้านไหนไม่เวิร์คเราก็เงียบ ๆ ไป ไม่ใช่ไปร้านไหนก็บอกดีไปหมด เราก็ต้องรักษาความเป็นตัวตนเราไว้ด้วย และหลัง ๆ ผมจะไม่ค่อยพูดถึงความอร่อย เพราะลิ้นของแต่ละคนมันต่างกัน เราบอกไม่อร่อย แต่คนอื่นอาจอร่อยก็ได้ ก็จะพูดถึงมุมอื่น ๆ มากกว่า แนวคิดที่มา คอนเซ็ปต์ บรรยากาศ การจัดการ ก็เอามาเล่า”
“ยิ่งเป็นอาหารไทยด้วยนะ เรื่องความอร่อยพูดยาก เพราะมันเป็นอาหารความทรงจำ วัยเด็กเรากินพะโล้รสชาติแบบนี่เราคุ้นลิ้น พอไปกินที่อื่นต่างออกไปเราก็ว่าไม่อร่อยได้ เรากินรสชาติฝีมือแม่มาตั้งแต่เด็กจนโต ใครทำต่างจากนี้มันก็ไม่อร่อยหมดแหละ อย่างร้านผมทำรสชาติแบบบ้านผมใครกินไม่ได้ก็เรื่องของคุณ ก็คุณมากินข้าวบ้านผมก็ต้องกินรสชาตินี้จะให้เปลี่ยนตามใจคนกินมา 30 คน 30 รสชาติ เหรอ!”