Q&A by คณะรักษาความสงสัย
และช่วยไขกระจ่าง (คสช.) : ตอนที่ ๑๒
สมาชิกเพื่อนแท้ฯถาม : สวัสดีครับ ผมเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่มประเภทนมสด มีพนักงาน 9 คน แบ่งตามหน้าที่ คือในครัว 3 คน มี กุ๊ก, ผู้ช่วยกุ๊ก, พนักงานล้างจาน, ชงเครื่องดื่ม 1 คน เสิร์ฟ 3 คน, ทำขนมและออกเมนูของหวาน 1 คน, แคชเชียร์ รับออเดอร์ 1 คน ร้านเปิดบริการ 16:00-23:00 หยุดทุกวันอาทิตย์ครับ ปัญหาที่เกิดคือ การลาหยุดของพนักงานบ้าง พนักงานหมุนเวียนบ่อยๆ พนักงานใหม่ทำได้ไม่นาน จึงอยากสอบถามเกี่ยวกับการดูแลพนักงานยังไง ที่จะส่งผลในการจูงใจให้อยากทำงานกับร้าน และการบริหารพนักงานในร้านไม่ให้เกิดเป็นหาส่งผลกระทบกับร้าน เช่น การหยุดงานแบบไม่แจ้งล่วงหน้า
ณ ตอนนี้ ที่ร้านจูงใจพนักงานโดยการตั้งยอดขายต่อวัน หากสามารถทำยอดขายถึงที่กำหนด จะแบ่ง 3% จากยอดขาย แก่พนักงานทุกคน โดยแบ่งตามชม. ของแต่ละคนที่ทำงาน ซึ่งจะไม่เท่ากันครับ ขึ้นอยู่กับชั่วโมงของพนักงานที่ทำ ตอนนี้กำลังพิจารณา เงินค่าขยันสำหรับคนที่มีความรับผิดชอบเรื่องเวลาและ ไม่ขาดงาน แต่ไม่แน่ใจว่าควรให้ยังไง มีการคิดคำนวณอย่างไร?…..ฯ
คสช.เพื่อนแท้ฯ ตอบ
คำถามยาวกว่านี้ครับ แต่ขอสรุปเอาส่วนสำคัญๆ มาแบ่งปันให้เพื่อนๆ ได้ติดตามกัน ปัญหาเรื่องพนักงานนี่ถ้าจัดอันดับเชื่อว่าคงติด Top 3 ของปัญหากวนใจคนทำร้านอาหารแน่นอนครับ เพราะมีคำปรึกษา คำตัดพ้อ คำระบายส่งมาทางอินบ็อกในประเด็นนี้เยอะเลยครับ ที่เจอหน้ากันแล้วปรึกษาเรื่องนี้ก็เยอะเช่นกัน
มาดูแนวทางจัดการปัญหาของเพื่อนท่านนี้ที่ถามมากันครับ วิเคราะห์ก่อน ร้านเปิดขาย 16.00-23.00 แปลว่าพนักงานคงเข้างานตั้งแต่เวลา 15.00-24.00 น. (พักเบรค 1 ชม.) การทำงานมาตรฐานตามกฎหมายแรงงานคือ ทำงานวันละ 8 ชม. พักเบรค 1 ชม.(บางองค์กรให้เบรค 2 ชม. ก็สามารถทำได้ครับ) ส่วนค่าแรง Fulltime ตามชั่วโมงการทำงานข้างต้นนั้น เริ่มต้นที่ 300 บาท , Part time แนะนำควรเริ่มต้นที่ 42 บาท/ชม.ครับเพื่อแข่งขันได้ในตลาด
ส่วนการขาดงานนั้นขอแยกเป็นประเภทให้ดังต่อไปนี้นะครับ
– หยุดกระทันหันไม่บอกล่วงหน้า หักเงินครับ
– ลากิจ มีทั้งแบบหักเงินไม่หักเงินครับ ปกติลากิจเราจะไม่นิยมให้ใช้เนื่องจากร้านอาหารจะมีลาพักร้อนและลานักขัตฤกษ์อยู่แล้ว (ลาพักร้อนต่อปีมี 7 วันแต่ต้องทำงานครบ 1 ปีก่อน / ลานักขัตฤกษ์มีั 13 วัน คือวันลาจากการที่คนทั่วไปได้หยุดเช่นวันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันวิสาขบูชา ซึ่งต่อปีจะมี 13 วัน)
ดังนั้นจะลากิจได้ก็ต่อเมื่อ คนในครอบครัวป่วย คนในครอบครัวเสีย แต่งงาน เท่านั้นถ้านอกเหนือกรณีนี้ให้ใช้พักร้อนและนักขัตฤกษ์ก่อน แต่ถ้าใช้สิทธิหมดจะมาใช้ลากิจจะต้องถูกหักเงิน
การลากิจ – ควรลาล่วงหน้า 7 วัน สาเหตุเนื่องจากทางร้านสามารถปรับตารางทำงานได้ทันและเหมาะสม แต่หากเป็นเหตุสุดวิสัยก็อยู่พิจารณาครับ
ส่วนสิทธิการลากิจ กับลาป่วย ไม่รวมกันครับ ลากิจปีละ 6-7 (แล้วแต่ระบุ) , ลาป่วย30วัน (เกินกว่านั้นต่อให้มีใบรับรองแพทย์ก้หักเงิน) หากลูกจ้างยังไม่ผ่านการทดลองงาน จะไม่สามารถลากิจได้ ส่วนลาป่วยลาได้แต่หักเงินครับ
นี่คือมาตรฐานตามกฎหมาย และที่นิยมปฏิบัติกันครับ
ส่วน Incentive เป็นเรื่องดีนะครับ แต่ต้องดูว่า 3% ของเป้า เมื่อหารเฉลี่ยเป็นพนักงานแต่ละคนที่ได้รับแล้ว คิดเป็นกี่บาท และต่อเดือนพนักงานจะได้รวมประมาณกี่บาท หากน้อยเกินไปก็ไม่เป็นแรงจูงใจครับ
การให้เบี้ยขยัน เป็นเรื่องดีครับ ปกติให้ 300 บาท/คน/เดือนครับ แต่ต้องมาดูว่ามีกำไรเหลือให้จริงหรือไม่ และถ้าสมมติพนักงานทุกคนไม่ป่วย สาย ขาด ลา เลยแม้แต่คนเดียว องค์กรพร้อมจ่ายให้คนละ 300 ใช่หรือไม่
แนวความคิดอีกทางคือ การมาทำงานโดยไม่สาย ไม่ขาด ไม่ลานั้นถือเป็นความรับผิดชอบที่พนักงานพึงจะปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าจะต้องปฏิบัติเพื่อเอา Incentive
ใจเย็นๆ นะครับ เรื่องพนักงาน เป็นเรื่องของการทำงานกับคนมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก แต่พนักงานก็คือทรัพย์สินอย่างหนึ่งของร้านที่เป็นได้ทั้งทรัพย์ดี และทรัพย์เสีย ปีหน้า เราจะมีหลักสูตร Operation วางระบบจัดการบุคคลากรในร้านอาหาร เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านนี้ให้กับเพื่อนๆ โดยเฉพาะครับ